กสศ. จับมือนานาชาติ เร่งฟื้นฟูภาวะถดถอยการเรียนรู้ในเด็ก 3 แสนราย
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จับมือนานาชาติ เดินหน้าพัฒนาระบบการศึกษา ตั้งเป้าฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ในเด็ก 300,000 ราย
วันที่ 24 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ, ยูเนสโก, กรุงเทพฯ, สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของยูนิเซฟ (UNICEF EAPRO), ยูนิเซฟ ประเทศไทย, รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) และ Save the Children เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
ภายใต้แนวคิด ก้าวสู่ความเสมอภาคไปด้วยกัน (International Conference on Equitable Education : Together Towards Equity) ระหว่างวันที่ 19-20 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อหารือถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นกับเด็ก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กยากจนทั่วโลก
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การประชุมนานาชาติครั้งนี้ เป็นไปเพื่อหาโซลูชั่นการศึกษาที่แต่ละฝ่ายสามารถนำไปปรับใช้กับบริบทของประเทศ โดยวาระเร่งด่วนของการศึกษาในเวลานี้ก็คือ การฟื้นฟูการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชน เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เด็กจำนวนมากกำลังประสบภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ และปัญหาทางพัฒนาการร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ เช่น พัฒนาการกล้ามเนื้อ เป็นต้น
ดังนั้น การเร่งฟื้นฟูเด็กและเยาวชนกลับสู่ภาวะปกติ จนสามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียม เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยการบูรณาการและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ตามแนวคิด All for Education ซึ่งเป็นที่มาและวัตถุประสงค์หลักของการประชุมวิชาการนานาชาติ เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาในครั้งนี้ พร้อมแสดงความหวังว่าการพูดคุยจะนำไปสู่การเกิดแผนการฟื้นฟู และพัฒนาเด็กที่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด เกิดการลงทุนเพื่อการศึกษาที่ยั่งยืนในระยะยาว
“สิ่งที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ จะเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยลดภาวะ Lost Generation ซึ่งจะเป็นความสูญเสียที่จะส่งผลกระทบต่อสังคมไทยและสังคมโลกอย่างมหาศาล เพราะมีเด็กประมาณ 300,000 ราย ที่อยู่ในกลุ่มคนยากจน และต้องสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ไปในช่วงของการปิดโรงเรียนเพราะโควิด-19
ซึ่งลำพังแค่การเยียวยาไม่เพียงพอที่จะทำให้เด็กบรรเทาผลกระทบต่อการสูญเสียการเรียนรู้ แต่จำเป็นต้องลงทุนเพื่อฟื้นฟูการศึกษา นำเด็กที่หลุดออกจากโรงเรียนกลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง ฉะนั้น ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทรัพยากร ความมุ่งมั่น และทุกมุมมองที่จะสามารถช่วยพวกเขาให้กลับมาโรงเรียนได้อีกครั้ง”