สบน.เผยแผนกู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน5ปีเกือบ9แสนล.
สบน.เผย รัฐบาลมีแผนกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในระยะ 5 ปีข้างหน้าเกือบ 9 แสนล้านบาท
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)เปิดเผยว่า สบน.จะสนับสนุนการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและขีดความสามารถของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยในระยะ 5 ปี ( 2566-2570) รัฐบาลมีแผนการกู้เงินเพื่อการลงทุนด้านคมนาคม พลังงาน สาธารณูปการ สาธารณสุข การศึกษา และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รวมกว่า 8.98 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ สบน.จะใช้กลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะปานกลางและเครื่องมือการกู้เงินหลากหลาย(Diversified Instrument) เพื่อให้การบริหารหนี้สาธารณะอยู่ภายใต้ต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสมและสร้างความเชื่อมั่นแก่ทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศว่าการบริหารหนี้สาธารณะ (Public Finance) ของประเทศไทยยังคงแข็งแกร่ง โดยแผนการกู้ดังกล่าว มาจากความต้องการเงินกู้ทั้งของรัฐวิสาหกิจและของส่วนราชการ
นอกจากนี้ สบน.จะยังมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยจะผลักดันให้มีการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเข้ามามีบทบาทในการช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ยกระดับให้ประชาชนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และส่งเสริมให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยการสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในการออก Green Bond, Social Bond, Sustainability Bond หรือ ESG Bond ในรูปแบบต่างๆ ต่อไป
ทั้งนี้ Credit Rating Agency เช่น Moody’s S&P และ Fitch ยังเชื่อมั่นในฐานะการคลังของประเทศไทย โดยยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ระดับ BBB+/Baa1 ซึ่งอยู่ในระดับน่าลงทุน (Investment Grade) ท่ามกลางวิกฤต ขณะที่หลายประเทศถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ
สำหรับการประเมินผลการใช้จ่ายเงินโครงการภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 ปี 2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท การประเมินรอบที่ 1 (วงเงินที่ถูกประเมินประมาณ 805,000 ล้านบาท คิดเป็น 81.95% ของกรอบวงเงินกู้) โดยใช้กรอบแนวคิดการประเมินผลจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ(OECD) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) พบว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานเฉลี่ยอยู่ในระดับดีมาก (A) สามารถสร้างมูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จำนวน 2.65 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าจะมีรายได้กลับคืนภาครัฐสูงสุดถึง 513,000 ล้านบาท